ตรวจดาวน์ซินโดรมเพื่อดูความเสี่ยงของทารกในครรภ์

การตรวจดาวน์ซินโดรมคัดกรองความผิดปกติของทารกในครรภ์การตรวจในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 10-12 สัปดาห์ แพทย์จะมีวิธีการตรวจคัดกรองความเสี่ยงของทารก หรือโครโมโซม เพื่อดูความเสี่ยงของทารกในครรภ์จะเป็นดาวน์ซินโดรม

การตรวจชิ้นเนื้อรกหรือ CVS (Chorionic villous sampling) เป็นการตรวจดาวน์ซินโดรมที่ให้ผลแม่นยำ คือการนำท่อส่องกล้องเข้าไปในปากมดลูก และใช้เครื่องมือดึงหรือดูดนำตัวอย่างรก ของทารกในครรภ์ออกมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการ การตัดชิ้นเนื้อรกเพื่อนำมาตรวจนี้ให้ผลตรวจที่แม่นยำมาก สามารถตรวจได้ทุกโครโมโซม แต่คุณแม่จะเสี่ยงต่อการแท้งได้ จึงควรทำโดยแพทย์ที่มีความชำนาญในการทำหัตถการ

การตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อวัดความหนาของน้ำที่สะสมบริเวณต้นคอทารก หรือ NT (Nuchal Translucency) การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ตรวจวัดความหนาบริเวณต้นคอของลูกน้อยในครรภ์ ซึ่งเมื่อตรวจแล้วพบว่าทารกมีความหนาของผนังคอมากกว่าปกติ จะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะมีโครโมโซมผิดปกติ หรืออาจเป็นดาวน์ซินโดรมเพิ่มมากขึ้น วิธีการตรวจดาวน์ซินโดรมนี้ให้ผลค่อนข้างแม่นยำ และไม่มีความเสี่ยงต่อการแท้ง

การทำ NT ร่วมกับ การตรวจสารในเลือดคุณแม่ หรือตรวจเลือด Double Marker (PAPP-A , Free B HCG) เป็นการตรวจร่วมกันทั้งการอัลตราซาวด์วัดความหนาของต้นคอทารก (NT) ร่วมกับการตรวจสารชีวเคมี และฮอร์โมนในเลือดคุณแม่ 2 ชนิด คือ Pregnancy – associated plasma protein A หรือ PAPP-A กับ Free beta subunit of human gonadotropin หรือ Free B – HCG ซึ่งการตรวจดาวน์ซินโดรมคัดกรองด้วยวิธีนี้ถือว่าได้ผลที่แม่นยำมากยิ่งขึ้นถึงประมาณ 90% และไม่เสี่ยงต่อการแท้ง

ตรวจคัดกรองความผิดปกติของลูกจากเลือดคุณแม่ NIPD (Non-invasive prenatal diagnosis) เป็นนวัตกรรมการตรวจคัดกรองลูกน้อยในครรภ์แบบใหม่ล่าสุด สามารถค้นหาความผิดปกติ หรือตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ได้จากเลือดของคุณแม่ โดยไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ หรือไม่มีความเสี่ยงแท้ง ต่างจากการเจาะน้ำคร่ำที่มีความเสี่ยง เพราะทารกในครรภ์มีโอกาสที่จะแท้งจากการทำหัตถการการเจาะน้ำคร่ำได้

การเจาะน้ำคร่ำ (Amniocentesis) วิธีการตรวจดาวน์ซินโดรมที่ให้ความแม่นยำมากที่สุด 99% เช่นเดียวกับการตัดชิ้นเนื้อรก สามารถตรวจได้ทุกโครโมโซมในร่างกายของทารกทั้งหมด 46 แท่ง 23 คู่ บอกความเสี่ยงของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมได้อย่างแม่นยำ บอกเพศได้ถูกต้อง ตลอดจนความผิดปกติอื่นๆของทารกในครรภ์ แต่การเจาะน้ำคร่ำถือเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงต่อการแท้งทารกในครรภ์ ซึ่งหากคุณแม่ที่ตรวจดาวน์ซินโดรมด้วยวิธีการอื่นๆ และมีผลบวก หรือพบความผิดปกติของทารก แพทย์จึงจะแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำเพื่อยืนยัน หรือวินิจฉัยได้แม่นยำมากขึ้น